ความคืบหน้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.พิจารณาร่วมจ่าย 30 บาท ให้เริ่มเก็บตั้งแต่ใช้บริการที่รพ.ชุมชนขึ้นไป เริ่มดำเนินการทั่วประเทศ 1 ก.ย. 55 โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องจ่าย คือประชาชนที่ไปรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดและได้รับยา ยกเว้นกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายตามประกาศของสธ.ส่วนบุคลลอื่นๆให้อยู่ในดุลยพินิจของรพ.เป็นครั้งๆไป
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการดำเนินงานตามนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายวิทยากล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการร่วมจ่าย 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาและได้มีมติให้มีการร่วมจ่ายกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการและได้รับยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาก็ไม่ต้องร่วมจ่าย จะยกเว้น คนยากจน (จากฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย) และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ทั้งนี้หน่วยบริการจะมีเงินรายได้จากการร่วมจ่ายคาดว่าปีละ 2,000 ล้านบาท โดยในอนาคต จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพปฐมภูมิ หรือการสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากรเป็นต้น คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 นั้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แนวทางดังกล่าวให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากจะดำเนินการโดยขยายผลตามระยะ (phasing) ควรกำหนดกรอบเวลารวมทั้งการพัฒนาคุณภาพบริการด้านต่างๆ และประกาศให้ชัดเจนเพื่อทราบทั่วกันตั้งแต่เริ่มแรก และการยกเว้นการร่วมจ่ายของประชาชน ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของหน่วยบริการ ขณะเดียวกันขอให้เตรียมข้อมูลและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจต่อสาธารณะต่อไป
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอในที่ประชุมว่า คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ได้ประชุมหารือต่อข้อสังเกตดังกล่าวและมีข้อสรุปเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา กล่าวคือให้ ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 นี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท คือ ผู้รับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับบริการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดและได้รับยา แต่มีข้อยกเว้นในกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มที่จะมีการประกาศเพิ่มเติมต่อไป ส่วนผู้รับบริการเฉพาะรายอื่น ๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของหน่วยบริการเฉพาะราย และดุลยพินิจของประชาชนเฉพาะรายเป็นครั้งๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสิทธิประโยชน์และคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น คือ เมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เร่งด่วน ผู้ป่วยได้รับบริการทุกที่ โดยไม่ถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน กรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานในทุกระบบหลักประกัน ในหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป อีกทั้งจะเพิ่มบริการในช่วงบ่ายและไม่หยุดช่วงเที่ยงเพื่อลดความแออัดของการรับบริการในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุจะได้รับบริการโดยไม่ต้องรอคิว ประชาชนจะได้รับการคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ เมื่อประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยหากมีความจำเป็นต้องรับการปรึกษาจะได้รับการปรึกษาผ่านระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล( telemedicine) โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนได้รับความสะดวกในการเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้นโดยใช้เอกสารเพียงแค่บัตรประชาชนหรือเอกสารที่ทางราชการจัดให้ที่มีเลข 13 หลัก และสามารถเปลี่ยนหน่วยได้เพิ่มจากปีละไม่เกิน 2 ครั้งเป็นปีละไม่เกิน 4 ครั้ง
นายวิทยากล่าวว่า มติคณะกรรมการในครั้งนี้ มีแนวทางดำเนินการดังนี้ สำหรับการเตรียมความพร้อมนั้น ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมในเรื่องหน่วยบริการในการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงเที่ยงและบ่าย พัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล ( telemedicine) ให้ครบถ้วนทุกพื้นที่ในปีงบประมาณ 2556 และเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนดำเนินการ ขณะเดียวกันขอปรับระบบค่าตอบแทน ซึ่งต้องมีการจ่ายเพิ่มเติมกรณีจัดบริการในตอนเที่ยงวัน คาดว่าจะใช้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี
สำหรับ สปสช.นั้นให้เตรียมความพร้อมของการให้ความสะดวกกับประชาชนในการเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยบริการประจำ และเตรียมการติดตามผลทุก 3 เดือนเพื่อรายงานคณะกรรมการต่อไป
อนึ่ง 23 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องร่วมจ่าย อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้พิการ ทหารเกณฑ์ นักเรียนทหาร นักเรียนไม่เกินชั้นม.ต้น อสม. พระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสฯ แม่ชี นักบวช นักพรต และผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นต้น
ที่มา http://www.nhso.go.th/FrontEnd/NewsInformationDetail.aspx?newsid=NDQy